Versailles – Bangkok, via Brest

  • Home
  • Versailles – Bangkok, via Brest

ประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่สามารถนำมารวมเข้าด้วยกันได้ ดังที่ปรากฏในภาพเขียน พระบรมมหาราชวัง (ด้านซ้าย) รวมกับพระราชวังแวร์ซายส์ ในส่วนที่สร้างในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 (ด้านขวา) เมื่อนำทั้งสองภาพมารวมเป็นอาคารเดียวกัน จะเห็นว่าพระราชวังทั้งสองไม่ได้สร้างขึ้นตามหลักสถาปัตยกรรมเดียวกันแต่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน พระราชวังแวร์ซายส์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงปารีส แต่เดิมเคยเป็นที่ประทับในช่วงล่าสัตว์ของกษัตริย์ฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ทรงมีรับสั่งให้สร้างศาลารูปตัวยูที่ทำจากอิฐและหิน ซึ่งปัจจุบันล้อมรอบด้วยลานหินอ่อน ส่วนพระราชวังเก่าของกรุงเทพฯ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2325 และสำหรับพระบรมมหาราชวังที่ปรากฏในภาพวาด ซึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 นั้น ได้ผ่านการบูรณะมาอย่างนับไม่ถ้วนตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ลายจิตรกรรมฝาผนังในท้องพระโรง เป็นภาพประวัติศาสตร์สำคัญที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามกับนานาชาติที่มีมาช้านาน ดังภาพวาดที่ปรากฏบนผนังด้านทิศตะวันออกที่ชื่อ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้การต้อนรับคณะราชทูตในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ณ ท้องพระโรงห้องกระจกแห่งพระราชวังแวร์ซายส์”

กรอบที่ล้อมรอบภาพเขียนนี้แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ของคณะราชทูตสยามที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเมืองแบรสต์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 การเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับชาวเมืองแบรสต์ จนมีการเปลี่ยนชื่อถนนสายหลักว่า “รู เดอ สยาม” หรือ “ถนนแห่งสยาม” ซึ่งเป็นถนนที่ในปัจจุบันมีรูปปั้นเจ้าพระยาโกษา ปาน ตั้งตระหง่านอยู่ สร้างโดย คุณวัชระ ประยูรคำ ประติมากรชื่อดัง และบริจาคให้เมืองแบรสต์ในปี พ.ศ. 2563 โดยมอบผ่านทางสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับคุณที่กำลังชมภาพนี้อยู่ อย่าลืมว่าทางเข้าตัวอาคารฝ่ายกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ในซอย เจริญกรุง 36 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “รู เดอ แบรสต์” หรือ “ถนนแห่งเมืองแบรสต์” แล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Jintrakarn KOSHPASHARIN, Tle B